วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ผ้าไทยพื้นเมือง




ผ้าไทยพื้นเมือง

"ลือเลื่องผ้าถิ่น แห่งแผ่นดินสยาม"

การทอผ้าพื้นเมือง ของท้องถิ่นไทยเรานั้น ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า เป็นงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์อันงดงาม กระจายอยู่ทั่วทุกถิ่น ทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละท้องที่ ลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวบนพื้นผ้านั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก หลาย ๆ ประการด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยภายนอก เช่น สภาพภูมิอากาศ  สภาพภูมิประเทศ  หรือ ปัจจัยหลักอันสำคัญ  คือ วัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งนำมาใช้ในการถักทอ เช่น ใยจากไหม ใยจากฝ้าย สีสัน กรรมวิธีการทอ รวมไปถึงความปราณีตบรรจง ของผู้ทอเองก็ตาม 

ปัจจัยหลักเฉพาะถิ่นอันสำคัญยิ่ง อันนำมาซึ่งคุณสมบัติอันแตกต่างเฉพาะตัวหาใดเสมอเหมือน นั่นก็คือ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ความเคารพศรัทธา ซึ่งแต่ละถิ่นที่ก็มีปัจจัยหลักนี้ แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง


ผ้าทอพื้นบ้าน คือ ผ้าที่ทอขึ้นด้วยกี่ หรือ หูก ที่มีอยู่ในตามแต่ละบ้าน ตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ รุ่นสู่รุ่น ผ้าทอพื้นบ้าน หรือผ้าทอมือ จะมีความแตกต่างกันอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการทอที่แตกต่างกันออกไป เช่น 


               การทอเรียบ ๆ ไม่มีลาย เรียกว่า "ผ้าพื้น" 




               การทอเป็นลวดลายเรียกว่า "ผ้ายก"  




               การทอเป็นลวดลายด้วยวิธีการ "จก" เรียกว่า "ผ้าจก"  




               การทอเป็นลวดลายด้วยวิธีการ "ขิด" เรียก "ผ้าขิด"



               การทอเป็นลวดลายด้วยวิธีการ "มัดย้อม" เรียก "ผ้ามัดหมี่" 




ซึ่งในบทความลำดับต่อจากนี้ไป "สยามภูษา" ขอนำเสนอ ผ้าไทยพื้นบ้าน ตามแต่ละท้องถิ่น ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันเด่นชัด สืบทอดจากยุคสมัยแห่งการถักทอเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเรือนชาน  สู่ยุคอุตสาหกรรมท้องถิ่นอันเข้มแข็ง 


"สยามภูษา" ขอเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ร่วมเผยแพร่ความงดงาม แห่งผืนผ้าพื้นเมือง 


 ............................อันเป็นอัตลักษณ์แห่งผ้าไทย ............................







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น