วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

หัตถกรรมไทยดำ บ้านนาป่าหนาด



หัตถกรรมผ้าทอ

ชาวไทยดำ  บ้านนาป่าหนาด

ชาวไทยดำ ชนเผ่าเล็กๆ ที่อพยพจากเมืองเชียงขวาง แคว้นพวน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มาเป็นเวลานานหลายปี อีกทั้งยังมีฝีมือด้านการทอผ้า มาแต่โบราณ และได้นำความรู้ ความสามารถด้านการทอผ้ามาถ่ายทอดให้กับลูกหลาน ที่เติบโตอยู่บนผืนแผ่นดินไทย นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน



การใช้ผ้าซิ่นเป็นเอกลักษณ์ของหญิงชาวไทยดำ ซึ่งจะนุ่งผ้าที่ทอกันขึ้นมาใช้เองตั้งแต่อดีตถึงยุคปัจจุบัน ทุกครัวเรือนผู้หญิงจะเป็นผู้ทอผ้าขึ้นมาใช้เอง เป็นผ้าฝ้ายทอมือ ประกอบไปด้วยเชิงบนซิ่น เป็น "หัวซิ่น" "ตัวซิ่น" เชิงล่างซึ่งเป็นเชิง "ตีนซิ่น" ย้อมคราม จนเป็นสีครามเข้มเกือบดำ นำมาทอสลับลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ในชีวิตประจำวันจะนุ่งซิ่น "ลายแตงโม" หรือ "ลายชะโด"

ผ้าซิ่นลายแตงโม (ลายชะโด)

เป็นคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า การที่ผ้าซิ่นลายแตงโม ใช้เส้นยืน สีแดง เป็นหลัก เส้นพุ่ง เป็น สีดำ หรือ ครามเข้มเกือบดำ นั้น เรื่องราวก็มีอยู่ว่า เป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่โบราณกาล ผู้ชายที่เป็นสามี เป็นผู้นำของครอบครัว มีหน้าที่ออกจากบ้านไปเข้าป่า หักร้างถางพง เป็นแหล่งทำมาหากิน ทำไร่ทำนา หาเผือกหามัน ฝ่ายภรรยามีหน้าที่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน รอจนกว่าสามีจะกลับบ้าน ภรรยาจะนั่งทอผ้าไป ส่วนใจก็ประหวัดนึกถึงสามีที่เข้าป่าหลายวัน อันความรักความคิดถึงย่อมจะมีอยู่ในตัวของทุกคน มันวิ่งแล่นอยู่ในทุกลมหายใจด้วยความห่วงใยและคิดถึง ภรรยาจึงใช้ สีแดง ย้อมเส้นยืน ซึ่งเป็นสีที่แทนหัวใจที่โหยหาอาวรณ์ห่วงใยในสามีรักที่จากกัน ส่วนเส้นพุ่งนั้น ใช้สีครามเข้มเกือบดำ แทนตัวเอง ซึ่งทอทับเป็นเส้นขัดให้เกิดเป็นเนื้อผ้า โดยซ่อนเส้นยืน สีแดง เอาไว้ เมื่อเวลานุ่งผ้าซิ่นลายแตงโม คอยสามี ในยามที่ต้องแสงแดดแวววับของเหลือบสีแดงจึงสะท้อนออกมา เสมือนหนึ่งเป็นสื่อสัญญาณแห่งความรักที่มีต่อกัน แม้จะเห็นเพียงราง ๆ เท่านั้นก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพื่อปกปิดความอายอันเป็นคุณสมบัติของหญิงสาวโดยแท้  

ผ้าซิ่นลายแตงโม  จะต้องนำมาต่อหัวซิ่น สีครามเข้มเกือบดำ ส่วนตีนซิ่นเย็บต่อให้มีความหนาเพื่อป้องกันไม่ให้ชายผ้าซิ่นขาดง่าย โดยหลักการของการทอผ้าทั่ว ๆ ไป เส้นยืนจะมีขนาดเล็กกว่า เส้นพุ่ง การทอผ้าแบบนี้ จึงสามารถที่จะซ่อนสีแดงของเส้นยืนเอาไว้ได้อย่างมิดชิด แต่จะไม่สามารถซ่อนอณูของสีที่เหลือบเอาไว้ได้ เมื่อเวลาต้องแสงแดด จะมีสีของเส้นยืนสะท้อนออกมาให้เห็น อันบ่งบอกให้รู้ถึงภูมิปัญญาของชาวบ้าน ซึ่งมีมาแต่โบราณ



ผ้าซิ่นลายนางหาร

จากการบอกเล่าของชาวบ้าน บ้านนาป่าหนาด ถึงประวัติที่มาของการทอผ้าซิ่นลายนางหารอันเป็นผ้าซิ่นลวดลายดั้งเดิมของชาวไทยดำว่า "แต่เดิมผู้หญิงชาวไทยดำ นิยมทอผ้าไว้สวมใส่กันเอง โดยเลือกใช้สีดำ แดง และขาว ในการทอผ้า เพราะถือเป็น สีเอกลักษณ์ ของชาวไทยดำ นอกจากผ้าที่ใช้สวมใส่ทั่วไปอย่างผ้าซิ่นลายแตงโมแล้ว ยังคิดทอผ้าสวย ๆ ไว้สำหรับใส่ออกงาน โดยมีหญิงชาวไทยดำคนหนึ่งคิดออกแบบลายผ้าใหม่ขึ้นมา แต่ทอยังไม่ทันจะสำเร็จก็เสียชีวิตลงไปเสียก่อน ต่อมามีหญิงชาวไทยดำอีกคนหนึ่งมาทอผ้าผืนนี้ต่อได้ไม่นาน ก็ถึงแกความตายไปเช่นกัน

           "จนกระทั่งมีหญิงไทยดำคนที่สามอาสาทอผ้าผืนเดิมต่อโดยไม่เกรงกลัวต่อความตาย ก่อนจะลงมือทอผ้า ได้บนบานกับผีบ้านผีเรือนที่ชาวไทยดำให้ความเคารพนับถือ กล่าวคำบนบานว่า หากทอสำเร็จจะจัดพานถวายผ้า และเมื่อทอสำเร็จผู้เฒ่าในชุมชนจึงตั้งชื่อว่า ผ้าลายนางหาร ก่อนจะนำผ้าไปทำพิธีถวายผีบ้านผีเรือนตามที่ได้บนบานเอาไว้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวไทยดำจึงนิยมใช้ ผ้าซิ่นนางหาญในการประกอบพิธีเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

             สำหรับคำว่า "นางหาญ" ชาวบ้าน บ้านนาป่าหนาดบอกว่า หมายถึงความกล้า ความเด็ดเดี่ยว ซึ่งน่าจะหมายถึงหญิงในตำนาน คนที่สาม ที่กล้าทอผ้าซิ่นผืนดังกล่าวได้จนสำเร็จอย่างเด็ดเดี่ยวนั่นเอง ผ้าซิ่นนางหาร จึงเป็นผ้าทอลายโบราณที่ทอสืบต่อกันมาจวบจนทุกวันนี้  ซึ่งปัจจุบันมีผู้ทอลายนางหารได้เพียง 6 คน เท่านั้น ในหนึ่งผืนจะประกอบด้วยลายมัดหมี่ และลายยกขิดอีก 3 ลาย ได้แก่ ลายนาคใหญ่หัวคว่ำหัวหงาย ลายช่อยอดปราสาท และลายนาคน้อยหัวคู่"


ยามว่างเว้นจากการทำไร่นา และการเกษตรอันเป็นอาชีพหลัก กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านไทดำ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผ้าทอลวดลายใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำแบบมาจากสิ่งที่พบเห็นรอบกาย เช่น ลายดาวกระจาย ลายเกล็ดเต่า ลายสายฝน ลายทาร์ทาน หรือ ลายสก๊อตช์ ลายผสมแม่ฝ้าหลวง ลายน้ำเลย หรือ ลายน้ำไหล ที่มีลวดลายเหรียบดั่งคลื่นน้ำ ลายสายรุ้ง ซึ่งทอสอดดิ้นให้ดูแวววาว และลายแม่คะนิ้ง ใช้เทคนิคการทอสอดดิ้น เป็นจุด ๆ อันหมายถึง น้ำค้างยอดหญ้าที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ถือเป็นเอกลักษณ์ของ เมืองเลย 

ปัจจุบันมีการแปรรูป ผลิตภัณฑ์ผ้าเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ อีกมากมาย เช่นกระเป๋า หมวก ผ้ารองจาน ผ้าปูโต๊ะ ปลอกหมอน เสื้อ และชุดแต่งกายสตรี เสื้อทำงานบุรุษ ผ้าคลุมไหล่ และผ้าพันคอผืนนุ่ม 



ผ้ารองจาน OTOP 5 ดาว (ปี 2552)
เอื้อเฟื้อภาพประกอบ http://www.thaitambon.com

ปลอกหมอนอิง OTOP 2 ดาว (ปี 2553)
เอื้อเฟื้อภาพประกอบ http://www.thaitambon.com 

ผ้าพันคอผ้าฝ้าย
เอื้อเฟื้อภาพประกอบ http://www.thaitambon.com 

ผ้าฝ้ายทอมือ OTOP 4 ดาว (ปี 2549)
เอื้อเฟื้อภาพประกอบ http://www.thaitambon.com 


กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านไทดำ เลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพดีอย่าง ผ้าฝ้าย สีสังเคราะห์ และสีธรรมชาติจากต้นไม้ในท้องถิ่นสำหรับการย้อมผ้า เช่น งิ้วป่า มะพร้าวแก่ ด้วยกระบวนการผลิตที่ใส่ใจต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยจัดให้มีบ่อบำบัดน้ำเสียจากการย้อมสี ใช้เทคนิคการมัดหมี่ ทอสอดสายด้วยดิ้นเงิน ดิ้นสายรุ้ง และดิ้นไข่มุก ใช้กี่ทอมือแบบพื้นบ้านจึงได้เนื้อผ้าที่แน่นสม่ำเสมอ ทนทาน และยืดหยุ่นได้ดี อีกทั้งมีราคาไม่แพง แต่ยังคงเอกลักษณ์ความงดงามแบบดั้งเดิมไว้ 





ขอขอบคุณ :
กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านไทดำ
เลขที่ 57/2 หมู่ที่ 4 บ้านนาป่าหนาด ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย 42110 
โทร. +66 86 035 4738, +66 04 207 0707

เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ
อนุสาร อสท. คอลัมน์จับจ่ายรายทาง ฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2553








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น