วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

ผ้าทอมือยกทอง บ้านท่าสว่าง





ผ้าทอมือยกทอง


บ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์

สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้่าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท 
ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม

เมืองสุรินทร์ แห่งดินแดนแถบอีสานใต้เป็นแหล่งรวมของผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ มีหมู่บ้านเลี้ยงช้าง ปราสาทหินโบราณ ข้าวหอมมะลิแสนอร่อย เครื่องเงินเอกลักษณ์เด่นอย่างลูกปะเกือม หัวผักกาดรสชาติดี รวมไปถึงผ้าไหมทอมืออันเลื่องชื่อ


เมือง มีแหล่งทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติเลื่องชื่ออย่างกลุ่ม จันทร์โสมา ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าสว่าง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์เพียง 10 กิโลเมตร ซึ่งคุณวีรธรรม  ตระกูลเงินไทย เป็นผู้คิดออกแบบลวดลายการทอผ้าไหมยกทองลายโบราณอย่างวิจิตรบรรจง โดยเริ่มจากนำเส้นไหมดิบมาฟอก แล้วย้อมสีด้วยพืชพรรณธรรมชาติ อย่างสีฟ้าจากคราม ได้จากการนำใบครามมาผสมกับน้ำด่างและเหง้ากล้วย หมักทิ้งไว้นาน 3 เดือน จะได้สีครามที่สามารถย้อมเส้นไหมได้ติดทนทาน โดยใช้เวลาย้อมเพียง 10 นาที

มะพูด หรือ ประโหด ที่ชาวบ้านในแถบนี้เรียกกัน นำเปลือกมาย้อมจะได้สีเหลือง ย้อมด้วยการต้มนาน 2 - 3 ชั่วโมง เช่นเดียวกับสีแดงจากครั่ง ซึ่งใช้ระยะเวลาในการย้อมด้วยการนำไปต้มนานเท่ากัน


สีเขียว ได้จากการย้อมสีเหลืองจาก มะพูด แล้วตากให้แห้ง นำไปย้อมครามอีกครั้ง ตากจนแห้งดี แล้วจะปรากฎเป็นสีเขียวมรกต


สีม่วง มาจากสีแดงจากครั่ง ผสมกับสีน้ำเงินจากคราม เริ่มจากย้อมสีแดงจากครั่งก่อน ตากจนแห้ง แล้วจึงย้อมด้วยครามอีกครั้ง จะได้สีม่วง




เส้นไหมที่ได้จากการย้อมสีธรรมชาติ


ด้วยเทคนิคและขั้นตอนการย้อมสีดังกล่าว ทำให้ได้เส้นไหมสีสันสวยงาม สีไม่ตก เมื่อไหมที่ย้อมสีแห้งสนิทดีแล้ว จึงปั่นใส่หลอด โดยไหมหลอดเล็กนำไปใส่ในกระสวย ไหมจากหลอดใหญ่นำไปขึงเป็นเส้นยืนบนกี่กระตุก สร้างสรรค์เป็นหัตกรรมผ้าทอชนิดต่าง ๆ เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าซิ่น หรือ ผ้านุ่ง ผ้าตัดเสื้อ และผ้าสำหรับทำเนคไท


ส่วนลวดลายผ้านั้นมีมากมายหลากหลาย ทั้งผ้าทอลายดอกแก้ว ลายใบเทศ ลายกาบพเยียกรอง ไปจนถึงผ้าทอยกทองผืนสวย อย่างลายราชวัติ ลายพระนารายณ์ทรงครุฑ หรือลายครองราชย์ ซึ่งนำมาจากลวดลายไทย และลายชั้นสูงแบบราชสำนักโบราณ นำมาประยุกต์รวมเข้ากับการทอแบบพื้นเมือง ผ่านขั้นตอนการทอที่สลับซับซ้อนพร้อมสอดดิ้นทอง กว่าจะได้มาซึ่ง ผ้าไหมยกทองโบราณ จึงต้องใช้เวลานาน




ผ้าไหมยกทองโบราณ 1 ผืน ใช้คนทอถึง 4 คน ต่อ 1 กี่ 1 คนทำหน้าที่ทอ อีก 3 คน ทำหน้าที่เก็บลาย และส่งลาย มีขนาดตั้งแต่ 300 - 600 กว่าตะกอ ราคาตั้งแต่หมื่นต้น ๆ ไปจนถึงหลักแสน


เนื่องจากผ้าไหมยกทองโบราณมีราคาสูง เมื่อผู้ซื้่อจะเลือกซื้อไปทำผ้านุ่ง ทางกลุ่มจันทร์โสมา ก็มีบริการเย็บเป็นผ้านุ่งสำเร็จให้สวมใส่อย่างสวยงามโดยไม่ต้องตัดผืนผ้า เมื่อเลิกใช้ก็มีบริการเลาะออกให้กลายเป็นผืนผ้าเช่นเดิม โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด




ผ้าไหมยกทองโบราณ ของกลุ่มจันทร์โสภา


ไม่เพียงแค่ผ้ายกทอโบราณที่ราคาสูง แต่ขณะเดียวกันก็มากไปด้วยคุณภาพ ลวดลายสวยงาม และสีสันที่สมกับราคาแล้ว ยังมีผ้าทอราคาย่อมเยา เช่น ผ้าทอยกดอก ขนาด 5 - 30 ตะกอ อย่างลายดอกแก้ว อีกด้วย


จากการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อน งดงามและศักดิ์สิทธิ์ จนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามอย่างมหัศจรรย์ และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ผลงานที่โดดเด่นของที่นี่ คือ การได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลให้ทอผ้าสำหรับตัดเสื้อผู้นำและผ้าคลุมไหล่สำหรับคู่สมรสผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจที่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปกเมื่อปลายปี 2546


 ......... งดงาม และศักดิ์สิทธิ์ ......... สมญานามแห่งผ้าทอมือยกทอง แห่งบ้านท่าสว่าง .......

 .... ประกาศศักดา ทรงคุณค่า แห่งผ้าไทย บนเวลาโลก .....








ขอขอบคุณ :
กลุ่มจันทร์โสมา
เลขที่ 150 หมู่ที่ 1 ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ 32000
โทร. +66 0 4414 0015

เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ :
อนุสาร อสท. คอลัมน์จับจ่ายรายทาง ฉบับเดือนตุลาคม ปี 2553
www.otoptoday.com




ผ้าขาวม้า 100 สี บ้านหนองขาว

 


ผ้าขาวม้า 100 สี 

บ้านหนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

ผ้าขาวม้า เป็นผ้าทอสารพัดประโยชน์ ที่อยู่คู่กับคนไทยมาเนิ่นนาน นิยมใช้นุ่งอาบน้ำ ใช้แทนผ้าเช็ดตัว ห่มนอน ปูนอน โพกหัว คาดเอว ผูกเป็นเปลสำหรับเด็ก ตามแต่ความคิดที่จะสามารถนำไปดัดแปลงใช้กัน

สำหรับประเทศไทยมีการทออยู่หลายภูมิภาค โดยมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามท้องถิ่น บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอีกหนึ่งแห่งซึ่งมีการทอผ้าขาวม้าอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนถิ่นอื่น คือ ทอผ้าขาวม้าด้วยเส้นด้ายสีสดใส สะดุดตา จนได้รับสมญานามว่าเป็น แหล่งทอผ้าขาวม้าร้อยสี

ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีประมาณ 11 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางถนนสายกาญจนบุรี - อู่ทอง เป็นที่ตั้งของบ้านหนองขาว ชุมชนเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม หญิงสาวในหมู่บ้านมีฝีมือด้านการทอผ้า ยามว่างเว้นจากการทำนา จึงใช้เวลาที่เหลืออยู่ทอผ้าด้วยกี่โบราณไว้สำหรับใช้สอยกันเองในครอบครัว  เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าถุง 



ซึ่งต่อมาจึงได้มีการคิดจัดตั้ง กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาบ้านหนองขาวขึ้น เพื่อทอผ้าไว้สำหรับขายโดยใช้กี่กระตุก  โดยมี คุณอารีย์รัตน์ พฤฑิกุล ผู้มีประสบการณ์ด้านการทอผ้า เป็นผู้พัฒนาคุณภาพของผ้า ลวดลาย และสีสันให้ทันสมัยสวยงามน่าใช้มากยิ่งขึ้น เลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพดี อย่างเช่น ไหมประดิษฐ์ เพราะมีความทนทาน ราคาถูก ย้อมด้วยสีอย่างดี ช่วยให้ทอผ้ามีน้ำหนักเบา มีสีสันสดใส

ต่อมาในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่มผ้าทอมือบ้านหนองขาว ออกแบบการทอให้ลวดลายสะดุดตายิ่งขึ้น ด้วยการเลือกใช้ไหมประดิษฐ์ สีสดๆ สารพัดสี โดยคงเอกลักษณ์เด่นแบบดั้งเดิมด้วยการอนุรักษ์ลวดลายแบบโบราณอย่างลายตาจัก ซึ่งมีเฉพาะที่บ้านหนองขาวเอาไว้ ทออย่างปราณีต มีการทอเก็บยกลายตลอดทั้งผืน และทอได้เฉพาะผู้ที่มีความชำนาญเท่านั้น ผ้าขาวม้าบ้านหนองขาวจึงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในนาม "ผ้าขาวม้าร้อยสี"  อันเป็นของดีแห่งบ้านหนองขาว เพราะนอกจากลายตาจักแล้ว ยังมีผ้าขาวม้าลายอื่น ๆ ได้แก่ ลายหมากรุก ลายตาคู่ ลายตาเล็ก  

นอกจากผ้าขาวม้าและผ้าโสร่ง ที่มีให้เลือกซื้อสารพัดสีแล้ว ทางกลุ่มฯ ยังได้แปรรูปผ้าผ้าขาวม้าเป็นสินค้านานาประเภท เช่น กระเป๋าสะพาย กระเป๋าใส่เศษสตางค์ ที่ใส่นามบัตร กล่องและซองใส่กระดาษทิชชู ตุ๊กตาแขวนผ้าเช็ดมือ รองเท้าใส่ในบ้าน ย่าม หมวกไอ้โม่ง พวงกุญแจ ที่แขวนผนังใส่ซองจดหมาย เสื้อผ้าสำเร็จรูปชาย - หญิงลายผ้าขาวม้า ที่สวมใส่แล้วไม่ร้อน สีไม่ตก ดูแลรักษาง่าย ซักรีดแล้วผ้าไม่หด หรือจะเป็นผ้าทออย่างผ้าฝ้ายมัดหมี่ 4 ตะกอ สำหรับตัดเสื้อและผ้าถุง ก็มีมากมายหลากหลายสี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีราคาที่ย่อมเยา





ผ้าที่ทอจากเส้นใยประดิษฐ์ ลายตาจัก (4 ดาว ปี 2553)
www.thaitambon.com




ผ้าขาวม้าร้อยสี ทอจากเส้นใยประดิษฐ์ ลายธรรมดา
www.thaitambon.com


จากยุคสมัยแห่งการถักทอเพื่อการใช้สอยประโยชน์จากการนุ่งห่มในเรือนชาน สู่ยุคแห่งอุตสาหกรรมครัวเรือน ก้าวล่วงมาถึงระดับวิสาหกิจชุมชนอันเข้มแข็ง ควรคู่สังคมอันสงบงามแห่งบ้านหนองขาว ผ้าขาวมือ 100 สี นับเป็นหนึ่งแห่งผ้าไทยพื้นบ้าน ที่งดงามควรค่า ......................


                  .............. สมเป็นอัตลักษณ์แห่งผ้าไทยพื้นถิ่น แผ่นดินทอง (กาญจนบุรี) ...................









ขอขอบคุณ :
กลุ่มผ้าทอมือบ้านหนองขาว
เลขที่ 10 หมู่ที่ 1 บ้านหนองขาว ต.หนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี 71110 
โทร. +66 0 3458 6061

เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ :
อนุสาร อสท. คอลัมน์จับจ่ายรายทาง ฉบับเดือนกันยายน ปี 2553
สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาญจนบุรี






วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

หัตถกรรมไทยดำ บ้านนาป่าหนาด



หัตถกรรมผ้าทอ

ชาวไทยดำ  บ้านนาป่าหนาด

ชาวไทยดำ ชนเผ่าเล็กๆ ที่อพยพจากเมืองเชียงขวาง แคว้นพวน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มาเป็นเวลานานหลายปี อีกทั้งยังมีฝีมือด้านการทอผ้า มาแต่โบราณ และได้นำความรู้ ความสามารถด้านการทอผ้ามาถ่ายทอดให้กับลูกหลาน ที่เติบโตอยู่บนผืนแผ่นดินไทย นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน



การใช้ผ้าซิ่นเป็นเอกลักษณ์ของหญิงชาวไทยดำ ซึ่งจะนุ่งผ้าที่ทอกันขึ้นมาใช้เองตั้งแต่อดีตถึงยุคปัจจุบัน ทุกครัวเรือนผู้หญิงจะเป็นผู้ทอผ้าขึ้นมาใช้เอง เป็นผ้าฝ้ายทอมือ ประกอบไปด้วยเชิงบนซิ่น เป็น "หัวซิ่น" "ตัวซิ่น" เชิงล่างซึ่งเป็นเชิง "ตีนซิ่น" ย้อมคราม จนเป็นสีครามเข้มเกือบดำ นำมาทอสลับลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ในชีวิตประจำวันจะนุ่งซิ่น "ลายแตงโม" หรือ "ลายชะโด"

ผ้าซิ่นลายแตงโม (ลายชะโด)

เป็นคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า การที่ผ้าซิ่นลายแตงโม ใช้เส้นยืน สีแดง เป็นหลัก เส้นพุ่ง เป็น สีดำ หรือ ครามเข้มเกือบดำ นั้น เรื่องราวก็มีอยู่ว่า เป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่โบราณกาล ผู้ชายที่เป็นสามี เป็นผู้นำของครอบครัว มีหน้าที่ออกจากบ้านไปเข้าป่า หักร้างถางพง เป็นแหล่งทำมาหากิน ทำไร่ทำนา หาเผือกหามัน ฝ่ายภรรยามีหน้าที่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน รอจนกว่าสามีจะกลับบ้าน ภรรยาจะนั่งทอผ้าไป ส่วนใจก็ประหวัดนึกถึงสามีที่เข้าป่าหลายวัน อันความรักความคิดถึงย่อมจะมีอยู่ในตัวของทุกคน มันวิ่งแล่นอยู่ในทุกลมหายใจด้วยความห่วงใยและคิดถึง ภรรยาจึงใช้ สีแดง ย้อมเส้นยืน ซึ่งเป็นสีที่แทนหัวใจที่โหยหาอาวรณ์ห่วงใยในสามีรักที่จากกัน ส่วนเส้นพุ่งนั้น ใช้สีครามเข้มเกือบดำ แทนตัวเอง ซึ่งทอทับเป็นเส้นขัดให้เกิดเป็นเนื้อผ้า โดยซ่อนเส้นยืน สีแดง เอาไว้ เมื่อเวลานุ่งผ้าซิ่นลายแตงโม คอยสามี ในยามที่ต้องแสงแดดแวววับของเหลือบสีแดงจึงสะท้อนออกมา เสมือนหนึ่งเป็นสื่อสัญญาณแห่งความรักที่มีต่อกัน แม้จะเห็นเพียงราง ๆ เท่านั้นก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพื่อปกปิดความอายอันเป็นคุณสมบัติของหญิงสาวโดยแท้  

ผ้าซิ่นลายแตงโม  จะต้องนำมาต่อหัวซิ่น สีครามเข้มเกือบดำ ส่วนตีนซิ่นเย็บต่อให้มีความหนาเพื่อป้องกันไม่ให้ชายผ้าซิ่นขาดง่าย โดยหลักการของการทอผ้าทั่ว ๆ ไป เส้นยืนจะมีขนาดเล็กกว่า เส้นพุ่ง การทอผ้าแบบนี้ จึงสามารถที่จะซ่อนสีแดงของเส้นยืนเอาไว้ได้อย่างมิดชิด แต่จะไม่สามารถซ่อนอณูของสีที่เหลือบเอาไว้ได้ เมื่อเวลาต้องแสงแดด จะมีสีของเส้นยืนสะท้อนออกมาให้เห็น อันบ่งบอกให้รู้ถึงภูมิปัญญาของชาวบ้าน ซึ่งมีมาแต่โบราณ



ผ้าซิ่นลายนางหาร

จากการบอกเล่าของชาวบ้าน บ้านนาป่าหนาด ถึงประวัติที่มาของการทอผ้าซิ่นลายนางหารอันเป็นผ้าซิ่นลวดลายดั้งเดิมของชาวไทยดำว่า "แต่เดิมผู้หญิงชาวไทยดำ นิยมทอผ้าไว้สวมใส่กันเอง โดยเลือกใช้สีดำ แดง และขาว ในการทอผ้า เพราะถือเป็น สีเอกลักษณ์ ของชาวไทยดำ นอกจากผ้าที่ใช้สวมใส่ทั่วไปอย่างผ้าซิ่นลายแตงโมแล้ว ยังคิดทอผ้าสวย ๆ ไว้สำหรับใส่ออกงาน โดยมีหญิงชาวไทยดำคนหนึ่งคิดออกแบบลายผ้าใหม่ขึ้นมา แต่ทอยังไม่ทันจะสำเร็จก็เสียชีวิตลงไปเสียก่อน ต่อมามีหญิงชาวไทยดำอีกคนหนึ่งมาทอผ้าผืนนี้ต่อได้ไม่นาน ก็ถึงแกความตายไปเช่นกัน

           "จนกระทั่งมีหญิงไทยดำคนที่สามอาสาทอผ้าผืนเดิมต่อโดยไม่เกรงกลัวต่อความตาย ก่อนจะลงมือทอผ้า ได้บนบานกับผีบ้านผีเรือนที่ชาวไทยดำให้ความเคารพนับถือ กล่าวคำบนบานว่า หากทอสำเร็จจะจัดพานถวายผ้า และเมื่อทอสำเร็จผู้เฒ่าในชุมชนจึงตั้งชื่อว่า ผ้าลายนางหาร ก่อนจะนำผ้าไปทำพิธีถวายผีบ้านผีเรือนตามที่ได้บนบานเอาไว้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวไทยดำจึงนิยมใช้ ผ้าซิ่นนางหาญในการประกอบพิธีเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

             สำหรับคำว่า "นางหาญ" ชาวบ้าน บ้านนาป่าหนาดบอกว่า หมายถึงความกล้า ความเด็ดเดี่ยว ซึ่งน่าจะหมายถึงหญิงในตำนาน คนที่สาม ที่กล้าทอผ้าซิ่นผืนดังกล่าวได้จนสำเร็จอย่างเด็ดเดี่ยวนั่นเอง ผ้าซิ่นนางหาร จึงเป็นผ้าทอลายโบราณที่ทอสืบต่อกันมาจวบจนทุกวันนี้  ซึ่งปัจจุบันมีผู้ทอลายนางหารได้เพียง 6 คน เท่านั้น ในหนึ่งผืนจะประกอบด้วยลายมัดหมี่ และลายยกขิดอีก 3 ลาย ได้แก่ ลายนาคใหญ่หัวคว่ำหัวหงาย ลายช่อยอดปราสาท และลายนาคน้อยหัวคู่"


ยามว่างเว้นจากการทำไร่นา และการเกษตรอันเป็นอาชีพหลัก กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านไทดำ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผ้าทอลวดลายใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำแบบมาจากสิ่งที่พบเห็นรอบกาย เช่น ลายดาวกระจาย ลายเกล็ดเต่า ลายสายฝน ลายทาร์ทาน หรือ ลายสก๊อตช์ ลายผสมแม่ฝ้าหลวง ลายน้ำเลย หรือ ลายน้ำไหล ที่มีลวดลายเหรียบดั่งคลื่นน้ำ ลายสายรุ้ง ซึ่งทอสอดดิ้นให้ดูแวววาว และลายแม่คะนิ้ง ใช้เทคนิคการทอสอดดิ้น เป็นจุด ๆ อันหมายถึง น้ำค้างยอดหญ้าที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ถือเป็นเอกลักษณ์ของ เมืองเลย 

ปัจจุบันมีการแปรรูป ผลิตภัณฑ์ผ้าเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ อีกมากมาย เช่นกระเป๋า หมวก ผ้ารองจาน ผ้าปูโต๊ะ ปลอกหมอน เสื้อ และชุดแต่งกายสตรี เสื้อทำงานบุรุษ ผ้าคลุมไหล่ และผ้าพันคอผืนนุ่ม 



ผ้ารองจาน OTOP 5 ดาว (ปี 2552)
เอื้อเฟื้อภาพประกอบ http://www.thaitambon.com

ปลอกหมอนอิง OTOP 2 ดาว (ปี 2553)
เอื้อเฟื้อภาพประกอบ http://www.thaitambon.com 

ผ้าพันคอผ้าฝ้าย
เอื้อเฟื้อภาพประกอบ http://www.thaitambon.com 

ผ้าฝ้ายทอมือ OTOP 4 ดาว (ปี 2549)
เอื้อเฟื้อภาพประกอบ http://www.thaitambon.com 


กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านไทดำ เลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพดีอย่าง ผ้าฝ้าย สีสังเคราะห์ และสีธรรมชาติจากต้นไม้ในท้องถิ่นสำหรับการย้อมผ้า เช่น งิ้วป่า มะพร้าวแก่ ด้วยกระบวนการผลิตที่ใส่ใจต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยจัดให้มีบ่อบำบัดน้ำเสียจากการย้อมสี ใช้เทคนิคการมัดหมี่ ทอสอดสายด้วยดิ้นเงิน ดิ้นสายรุ้ง และดิ้นไข่มุก ใช้กี่ทอมือแบบพื้นบ้านจึงได้เนื้อผ้าที่แน่นสม่ำเสมอ ทนทาน และยืดหยุ่นได้ดี อีกทั้งมีราคาไม่แพง แต่ยังคงเอกลักษณ์ความงดงามแบบดั้งเดิมไว้ 





ขอขอบคุณ :
กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านไทดำ
เลขที่ 57/2 หมู่ที่ 4 บ้านนาป่าหนาด ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย 42110 
โทร. +66 86 035 4738, +66 04 207 0707

เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ
อนุสาร อสท. คอลัมน์จับจ่ายรายทาง ฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2553








ผ้าไทยพื้นเมือง




ผ้าไทยพื้นเมือง

"ลือเลื่องผ้าถิ่น แห่งแผ่นดินสยาม"

การทอผ้าพื้นเมือง ของท้องถิ่นไทยเรานั้น ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า เป็นงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์อันงดงาม กระจายอยู่ทั่วทุกถิ่น ทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละท้องที่ ลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวบนพื้นผ้านั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก หลาย ๆ ประการด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยภายนอก เช่น สภาพภูมิอากาศ  สภาพภูมิประเทศ  หรือ ปัจจัยหลักอันสำคัญ  คือ วัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งนำมาใช้ในการถักทอ เช่น ใยจากไหม ใยจากฝ้าย สีสัน กรรมวิธีการทอ รวมไปถึงความปราณีตบรรจง ของผู้ทอเองก็ตาม 

ปัจจัยหลักเฉพาะถิ่นอันสำคัญยิ่ง อันนำมาซึ่งคุณสมบัติอันแตกต่างเฉพาะตัวหาใดเสมอเหมือน นั่นก็คือ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ความเคารพศรัทธา ซึ่งแต่ละถิ่นที่ก็มีปัจจัยหลักนี้ แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง


ผ้าทอพื้นบ้าน คือ ผ้าที่ทอขึ้นด้วยกี่ หรือ หูก ที่มีอยู่ในตามแต่ละบ้าน ตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ รุ่นสู่รุ่น ผ้าทอพื้นบ้าน หรือผ้าทอมือ จะมีความแตกต่างกันอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการทอที่แตกต่างกันออกไป เช่น 


               การทอเรียบ ๆ ไม่มีลาย เรียกว่า "ผ้าพื้น" 




               การทอเป็นลวดลายเรียกว่า "ผ้ายก"  




               การทอเป็นลวดลายด้วยวิธีการ "จก" เรียกว่า "ผ้าจก"  




               การทอเป็นลวดลายด้วยวิธีการ "ขิด" เรียก "ผ้าขิด"



               การทอเป็นลวดลายด้วยวิธีการ "มัดย้อม" เรียก "ผ้ามัดหมี่" 




ซึ่งในบทความลำดับต่อจากนี้ไป "สยามภูษา" ขอนำเสนอ ผ้าไทยพื้นบ้าน ตามแต่ละท้องถิ่น ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันเด่นชัด สืบทอดจากยุคสมัยแห่งการถักทอเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเรือนชาน  สู่ยุคอุตสาหกรรมท้องถิ่นอันเข้มแข็ง 


"สยามภูษา" ขอเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ร่วมเผยแพร่ความงดงาม แห่งผืนผ้าพื้นเมือง 


 ............................อันเป็นอัตลักษณ์แห่งผ้าไทย ............................